ค่าธรรมเนียมผ่าตัด (ไม่ใช่ ว่าผ่าอะไร ก็ได้เท่ากันหมด นะเจ้าคะ)

(ไม่ใช่ว่าเอะอะผ่าอะไร ก็เบิกได้เท่ากันหมดนะเจ้าคะ)

สวัสดีเจ้าค่ะ วันนี้เรามากันในเรื่องเบา ๆ ไม่ประชันขันแข่งกับใครกันบ้าง แม่มณีจะมาแถลงไขเรื่องเกี่ยวกับรายการผลประโยชน์ข้อหนึ่ง ที่ปกติจะเป็นวงเงินที่ให้สูงที่สุดในรายการผลประโยชน์ของค่าห้องแบบแยกค่าใช้จ่าย (ค่าห้องแบบเก่า ที่ไม่เหมาจ่าย) มันคือ “ค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัด” เจ้าค่ะ

ค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัด หรือ ค่าแพทย์ผ่าตัดและหัตถการ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกือบจะที่สุดหากเกิดการผ่าตัดจริง อาจเริ่มต้นที่หมื่น บานไปเป็นแสน ทะลุไปเป็นล้านเลยก็ได้ แล้วแต่โรงพยาบาล, ความยากง่ายของการผ่าและ ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ดังนั้นรายการนี้จึงเป็นรายการที่วงเงินสูงสุดในตารางผลประโยชน์ค่าห้อง ซึ่งปกติเราก็ไม่ค่อยได้ใช้ แต่ถ้าเกิดเหตุให้ใช้ วงเงินนี้สำคัญหนักหนาเลยทีเดียวเจ้าค่ะ

หากเกิดการผ่าตัดขึ้น บริษัทประกันก็จะจ่ายให้ตามค่าใช้จ่ายจริง ไม่เกินวงเงินสูงสุดต่อครั้งที่กำหนดให้ในแต่ละแผน แต่ประเดี๋ยวก่อน!!! มิใช่ว่าทุกการผ่าตัดจะได้รับวงเงินสูงสุดตามตารางนี้เสมอไปนะเจ้าคะ เราต้องเข้าไปดูใน “ตารางค่าธรรมเนียมผ่าตัด” ที่มีอยู่ในหน้ากลาง ๆ ของเล่มกรมธรรม์ (ที่เรามักจะวางทิ้งเป็นทานให้แก่ปลวกแทะกินไปแล้ว) แจกแจงให้ว่าแต่ละการผ่าตัดจะได้อัตราค่าธรรมเนียมผ่าตัดกี่เปอร์เซ็นต์ พิจารณาตามความยากง่ายในการผ่าตัดนั้น ๆ ดังเช่นที่แม่มณียกตัวอย่างมาให้ดูว่าแต่ละการผ่าตัดได้อัตราค่าธรรมเนียมเท่าไหร่กันบ้าง ซึ่งตารางจริงยืดยาวลงรายละเอียดการผ่าตัดไว้ชัดเจน อัตราค่าธรรมเนียมของต่างบริษัทกันอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยไม่เกิน 10% เท่านั้นเจ้าค่ะ 

จากตาราง ลองดูตัวอย่าง 1: แม่มณีมีค่าห้อง 4,000 วงเงินค่าแพทย์ผ่าตัด 100,000 ถ้าแม่มณีผ่าตัดเข้าไปในช่องสมอง ยกเว้นการเจาะรูและดูดโดยใช้เครื่อง อัตราค่าธรรมเนียมผ่าตัด 100% ดังนั้นแม่มณีจะเบิกค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัดได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อครั้ง (100,000 x 100%) (เสียวไส้! ฟังชื่อการผ่าตัดแล้ว ไม่น่าจะราคาน้อยกว่าหนึ่งแสนเลยเจ้าค่ะ)

ตัวอย่าง 2: แม่มณีมีค่าห้อง 4,000 วงเงินค่าแพทย์ผ่าตัด 100,000 ถ้าแม่มณีผ่าตัดตัดไส้ติ่ง อัตราค่าธรรมเนียมจะเป็น 40% ดังนั้นแม่มณีจะเบิกค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัดได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาทต่อครั้ง (100,000 x 40%) (อภิโธ่ว์! ผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่ แลดูวงเงินไม่น่าจะพอทั้งนั้น)

เห็นแบบนี้แล้วพอเข้าใจเรื่องวงเงินค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัดมากขึ้นบ้างชิมิเจ้าคะ มันก็จะทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า ค่าห้องแบบแยกค่าใช้จ่ายเดิม ๆ ทำไมมันถึงมีส่วนเกินอลังการ เวลาใช้งานกรณีผ่าตัดจริง ๆ มักไม่พอ เค้าก็เลยออกแบบประกันเหมาจ่ายมาไงเจ้าคะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประกันเหมาจ่ายค่ายไหน รายการ “ค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัด” นี้ ติดโผอยู่ในกลุ่มที่จ่ายตามจริงแบบเหมาจ่ายเสมอเจ้าค่ะ ดังนั้นหากเป็นไปได้ พอจ่ายเบี้ยไหว แม่มณีจึงมักแนะนำให้เรามองหาที่ประกันสุขภาพกลุ่มเหมาจ่ายไว้ก่อน แต่ถ้าเกิดว่ามันไม่ไหวกับราคา จำเป็นต้องซื้อค่าห้องแบบธรรมดาไม่เหมาจ่าย เราก็ต้องเข้าใจว่าเราเบิกได้แค่ไหนนะเจ้าคะ อย่าว่าแต่ลูกค้าเลย แม้แต่ตัวแทนประกันเอง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจเรื่องนี้นะเจ้าคะ

เราในฐานะลูกค้านี่แหล่ะเจ้าค่ะ ต้องรู้ การผ่าตัดบางอย่าง ไม่เร่งด่วน ถ้าคำนวณเป็นเห็นว่าส่วนเกินเยอะไป จะได้ย้ายโรงพยาบาลทัน ไม่ใช่มาช็อก ซีนีม่ากันตอนผ่าเสร็จ มันมิงามนะเจ้าคะ

Share this post :


แม่มณีทิพย์ที่เกี่ยวข้อง

<